ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ เร่งปรับกลยุทธ์ลดต้นทุน หวังอยู่รอด “เงินติดล้อ” ปรับรูปแบบให้บริการผ่านสาขาในภูมิภาค เน้นเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติอยู่แล้ว จากเดิมเดินปล่อยตามตลาดสด แต่ต้นทุนสูง ยอมรับหนี้เสียส่อเพิ่ม หวังคุมไม่เกิน 8% ด้าน “ซัมมิท แคปปิตอล” เมินธุรกิจนาโนฯ ชี้ดอกเบี้ย 36% ต่ำไป
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทได้ปรับรูปแบบการให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผ่านสาขาเงินติดล้อในภูมิภาคที่มีความต้องการและเน้นฐานลูกค้าเดิมที่มีประวัติอยู่แล้วเท่านั้นซึ่งเป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม
ในช่วงทดลองโมเดลใหม่นี้ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 150 ล้านบาท หลังจากนั้นจะประเมินผลเพื่อวางแนวทางต่อไปโดยตั้งแต่เริ่มเดือนเม.ย.ปีนี้ถึงปัจจุบันมียอดปล่อยแล้ว 100 ล้านบาทมีวงเงินกู้เฉลี่ยในลูกค้าเดิมในกลุ่มสินเชื่อรถกระบะและเก่งประมาณ 50,000-60,000 บาท และกลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ประมาณ 20,000 บาท
จากเดิมจัดเป็นโครงการสินเชื่อที่ตลาดสดต้องใช้พนักงานสัมภาษณ์ลูกค้าตรวจสอบรายได้และตามเก็บหนี้ทำให้ต้นทุนสูงมากแม้คุมหนี้เสียได้ดีก็ตามทำให้ต้องหยุดไปเมื่อไตรมาส3ปีก่อนมีสินเชื่อคงค้างกลุ่มนี้ประมาณ 80 ล้านบาทและทยอยลดลง
ทางด้านหนี้เสียในโมเดลใหม่มองว่าอาจจะเพิ่มขึ้นจากเดินที่ไม่เกิน 5% เพราะไม่มีพนักงานไปเดินเก็บหนี้แต่คาดว่าคุมไม่เกิน 7-8% เนื่องจากยังไม่ปล่อยลูกค้าใหม่และภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังไม่แตกต่างจากที่ผ่าน
“มองว่าอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ยอมรับว่าต่ำเกินไปไม่คุ้มต้นทุนการบริหารแต่ตอนนี้เราก็พยายามปรับปรุงเรื่องต้นทุนเท่าที่ทำได้ทดลองหาโมเดลใหม่ก็มองว่าน่าจะดีขึ้นภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ลูกค้ายังมีความต้องการเงินอยู่แต่หากปลดล็อกได้รวมถึงเรื่องหลักประกันให้ใช้ได้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้นอีกทั้งพิกโก้ไฟแนนซ์ยังมีข้อจำกัดห้ามปล่อยข้ามจังหวัดหากปลดล็อกได้จะทำให้มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น”
แหล่งข่าวผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ เปิดเผยว่า หลังจากดำเนินธุรกิจดังกล่าวประสบปัญหาขาดทุนด้วยหนี้เสียพุ่งสูง จึงได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไปแล้วนั้น แต่ในส่วนธุรกิจสินเชื่ออื่นๆ ยังดำเนินงานปกติพบว่า มีนายทุนปล่อยกู้นอกระบบสนใจและเข้ามาติดต่อขอซื้อธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปดำเนินการแทน เพราะธุรกิจสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์นั้นยังมีจำกัด โดยเฉพาะการห้ามปล่อยกู้ข้ามจังหวัด ทำให้ต้องลงทุนสูงอย่างน้อยมีสาขาละ 1 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจขายธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เพราะมองว่ายังเป็นธุรกิจที่มีใบอนุญาตสามารถเก็บไว้เก็งกำไรได้ในอนาคต
นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) มองว่า หากผู้ประกอบการธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่ประสบปัญหาขาดทุนจากหนี้เสียและยังไม่ได้กลับมาดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังก็อาจจะมีแนวคิดขายธุรกิจนี้ได้ ในขณะเดียวกันนายทุนปล่อยเงินกู้ ซึ่งคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ของธปท.แต่อาจจะมีเงินทุนระยะยาวและฐานลูกค้า จึงสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ก็เป็นได้
นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ บริษัทยังไม่มีความสนใจดำเนินธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโก้ไฟแนนซ์ เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี นั้นต่ำเกินไป ไม่คุ้มต้นทุนการบริหารจัดการเก็บหนี้แบบรายวัน และหนี้เสียที่สูงถึงสองหลัก
อีกทั้งจากการศึกษากลุ่มลูกค้าวงเงินกู้ระดับไม่เกิน 50,000 บาท และไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย อาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบว่า มีความผันผวนของรายได้สูงมาก ทำให้อาจมีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีจำนวนกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศก็ตาม
URL : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/769109
2017-08-19 21:11:33