ข่าวสาร บทความ

ข่าวสาร - กิจกรรมสมาคม - บทความ

ทำความรู้จักกับ “ฟินเทค” (FinTech) ปฏิวัติโลกการเงินให้ง่ายด้วยปลายนิ้ว

     ด้วยกระแสความร้อนแรงของเทคโนโลยี ประกอบกับการยอมรับฟินเทคของนักลงทุน และผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพต่างร่วมลงสนามพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกด้านการบริการทางการเงินให้กับผู้บริโภค และหนึ่งในหน่วยงานจากภาครัฐที่ออกโรงสนับสนุนการพัฒนาฟินเทคอย่างเต็มที่ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่มุ่งมั่นจัดงานเพื่อให้ความรู้ด้านฟินเทคแก่ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้เล่นรายเดิม สตาร์ทอัพรายใหม่ และบุคคลทั่วไปอยู่บ่อยครั้ง โดยนางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “โครงการ FinTech Challenge เป็นหนึ่งในการดำเนินการสำคัญที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตรต้องการแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความตั้งใจที่จะเปิดรับความท้าทายต่าง ๆ และความมุ่งมั่นที่หน่วยงานกำกับดูแลจะปรับทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันภาคการเงินและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากฟินเทคจะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการหรือวิธีการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภาคการเงินจึงต้องฉกฉวยโอกาสให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในไทย”



      “ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และวางกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อเปิดพื้นที่ ขจัดอุปสรรค และส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุน โดยการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงินซึ่งได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว และเมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเดิมและฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บริการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น” นางทิพยสุดา กล่าวสรุป



     วิทยากรหลาย ๆ ท่านที่เข้าร่วมเสวนาในงาน FinTech Challenge 2017 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ในแวดวงการเงินก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย อาทิ มร. ซันดีป แกนโทริ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หัวหน้าสายงานลงทุน บริษัท ยูบีเอสเวลธ์แมนเนจเมนท์ ให้ความเห็นว่า ฟินเทคจะมีส่วนสำคัญต่อธนาคารพาณิชย์ในอนาคต สถาบันการเงินจะหันไปเน้นลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น อาทิ การนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาใช้ตอบโจทย์เรื่องการให้คำแนะนำผ่านโปรแกรม ผู้แนะนำการลงทุนที่ใช้สมองกล (Robo-Advisor) และยังสามารถช่วยเก็บและกลั่นกรองข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ลดระยะเวลาในการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ ช่วยบริหารจัดการกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ตลอดจนลดภาระในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล 



     และ มร. ฟิลลิป เอ็นเนส หัวหน้าฝ่ายงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของบริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งมีประสบการณ์เป็นนักวานิชธนกิจมากว่า 17 ปี เห็นพ้องว่า เมื่อฟินเทคเข้ามา ธุรกิจทางการเงินต้องเจอกับความท้าทายและความกดดันทางการแข่งขันอย่างมาก ทำให้ต้องปรับตัว และเพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการ พร้อมกับประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้านความสะดวกและรวดเร็วในราคาและต้นทุนที่ถูกลงได้



     สอดคล้องกับ ดร. ฟลอเรียน มัทเธอุส ชะปีเกล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟินฟาบริค ที่กล่าวถึงแนวโน้มการนำเอไอหรือเครื่องมือที่ทำงานแทนการใช้ความสามารถของมนุษย์ ในปัจจุบัน เอไอ มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นแผนที่นำทางของ Google หรือการดูหนังออนไลน์บน Netflix สำหรับบทบาทของเอไอในตลาดทุนสามารถอยู่ในรูปของการตัดสินใจการลงทุนแทนคน รวมถึงการทำความรู้จักกับลูกค้า อาทิ การเช็คประวัติลูกค้าว่าควรให้เปิดบัญชีได้หรือไม่ ตรวจหาข้อมูลธุรกรรมที่ควรตรวจสอบเพิ่มเติม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนในอนาคตคือ เอไอที่มีความสามารถเฉพาะด้าน แต่ละด้านจะรวมกันเป็นเครือข่ายใหญ่สำหรับการให้บริการผู้ลงทุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจเนื่องจากใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ 



     เช่นเดียวกันกับ มิซสิซซู เดอ โบรกลิโอ หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานภูมิภาคเอเชีย บริษัท แมคควอรี่ กรุ๊ป ลิมิเตทที่มองว่าการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการกำกับดูแล หรือ เร็คเทค (Regtech) การใช้เอไอจะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและพนักงานในบริษัท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบ ติดตามดูแล วางมาตราการป้องกันความเสี่ยง และแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่ง



    จากกระแสฟินเทคที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ โดยคุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทยและดอกเตอร์อเล็กซ์ ลิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เอ็นจิเนียริ่ง เวนเจอร์ส ได้กล่าวถึง การระดมทุนด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคนต่อสาธารณะชน (ICO)  ว่าเป็นกลไกใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่เนื่องด้วยผู้ระดมทุนส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจจึงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะล้มเหลวสูง แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงที่จะใช้ประโยชน์จาก ICO ซึ่งมีความคล่องตัวและแตกต่างจากการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) อย่างสิ้นเชิง บริษัทจะเผยแพร่ข้อมูลเดียวกับโครงการ รูปแบบธุรกิจ หรือเอกสารที่เรียกว่า white paper และระบุสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับไว้ในสัญญาอัจฉริยะ (smart contact) ที่จะบังคับตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ ผู้ลงทุนใน ICO จะต้องศึกษาข้อมูลใน white paper และ smart contract อย่างละเอียด รวมทั้งทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจลงทุน



     และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงาน FinTech Challenge 2017 คือ โครงการประกวด FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Fast Forward for the Future การนำเสนอนวัตกรรมฟินเทคของเหล่าสตาร์ทอัพระดับหัวกะทิที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวนถึง 10 ทีม เพื่อชิงทุนสนับสนุนนวัตกรรมมูลค่ารวมกว่า 500,000 บาท ซึ่งผลการตัดสินมีดังนี้



      - ทุนนวัตกรรมประเภท rising star สำหรับทีมที่เสนอแผนธุรกิจที่น่าสนใจและสามารถทำได้จริง ทุนละ 100,000 บาท ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับทุนถึง 2 ทีมได้แก่ ทีม noon และทีม UTU “noon” เป็นระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม โดยนำเอาคอนเซปต์ Pay How You Drive มาปรับใช้กับการคิดส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับตัวเอง การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่หันมาขับรถกันอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้น และช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งรักษาลูกค้าเดิมที่มีประวัติดีได้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และการทำ Big Data Analysis รวมเข้ากับนวัตกรรมทางด้านประกันภัยที่เรียกว่า Usage Based Insurance  ผ่านการใช้ GPS บน Smartphone ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ และประมวลผลแบบ real time โดยจะแสดงผลคะแนนการขับให้ผู้ขับขี่ได้รับทราบเมื่อจบทริปการเดินทาง รวมถึงแนะนำข้อมูลวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย เนื่องจากผลคะแนนการขับขี่ที่ได้จะถูกส่งไปยังบริษัทประกันเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณา ส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในปีถัดไป ส่วน “UTU”เป็นแพลตฟอร์มระบบสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดน ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือชื่อ ยูทู (UTU) ก็สามารถสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดนในแอพเดียวจากการช้อปปิ้ง 1,000 ร้านค้าพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศของ UTU โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของแต่ละร้านค้าและพกบัตรสมาชิกมากมายให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพียงชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ UTU ก็จะได้รับคะแนน UTU Point สะสมแบบเรียลไทม์ คะแนนสะสมสามารถแลกรับเงินคืนหรือเปลี่ยนเป็นคะแนนสะสมของสายการบินชั้นนำก็ได้ ถือเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของโปรแกรมลอยัลตี้สะสมคะแนนแบบเดิม ที่มีข้อจำกัดทางด้านพรมแดนและเงื่อนไขการแลกคะแนนสะสม ด้วยระบบเชื่อมต่อ API กับธนาคาร ร้านค้าและ VISA จึงทำให้การได้คะแนนสะสม หรือการแลกคะแนนสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกสมาชิกทั่วโลก



     - ทุนนวัตกรรมประเภท innovative จำนวน 100,000 บาท สำหรับทีมที่เสนอนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ ทีม “Flight DApp Bot” ซึ่งเป็นระบบการจัดการเคลมเบี้ยประกันภัยการเดินทางและเที่ยวบินดีเลย์ ผ่านระบบรูปแบบการจัดการข้อมูลแบบบล็อกเชน smart contract ด้วย user interface ในรูปแบบ AI Chatbot โดยกลุ่มลูกค้าที่ทำประกัน เมื่อเกิดปัญหาจากการเดินทางหรือเที่ยวบินดีเลย์ไม่ว่าจะในประเทศและต่างประเทศ ระบบนี้จะช่วยทำการเคลมเบี้ยประกันภัยอัตโนมัติและได้รับเงินเบี้ยประกันชดเชยทันที โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องกรอกแบบฟอร์มและไปยื่นเคลมที่บริษัทประกันตามรูปแบบเดิมทำให้ลูกค้าที่ทำประกันผ่านระบบนี้หมดความกังวลเรื่องการเคลมทุกๆ การเดินทางหากมีเหตุที่เกิดขึ้นตรงตามเงื่อนไขที่ทำประกันไว้



     - ทุนนวัตกรรมประเภท popular vote จำนวน 50,000 บาท สำหรับทีมที่ได้รับ  ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ทีม “Wealth Me” เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตให้พัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพในฐานะนักวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลให้ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยแอพพลิเคชันที่จะช่วยลดระยะเวลา และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time คำนวณถูกต้องและแม่นยำตามทฤษฎีทางการเงิน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสารและอธิบายแผนการเงินที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระบวนการตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น



    นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอื่นๆ อีก อาทิ

- Cryptovation.co - โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน cryptocurrencies 

- StockRadars Gift - บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้น 

- Moto Punk – แพลตฟอร์มช่วยลูกค้าเลือกดีลเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์

- Insbee – ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้ 

- VenDingCoin - E-wallet สำหรับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ 

- Siam RegTech – ระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน



     ทั้งนี้ การสนับสนุนของภาครัฐ จะมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการเดิมและฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ช่วยให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงด้วย “ฟินเทค” 



    ที่มา : sanook.com


URL : http://money.sanook.com/519249/

2017-10-18 09:40:41

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมฯ พบปะเยี่ยมเยือน ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกฯ ภาคเหนือตอนล่าง
นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและมอบกระเช้าแก่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเนื่องในโอกาส ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับกระทรวงการคลัง
ทำดีเพื่อแม่ 12 สิงหาคม 2564
ผนึกกำลังสร้างความรู้การเงิน
นายกฯสั่งเดินหน้าช่วยประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านระบบพิโกไฟแนนซ์
แต่งตั้ง นายฉัตรชัย เล่งอี้ เป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย
งานประทานรางวัลไทยบุคคลแห่งชาติ (ThaiAward)
“ช้างไทย เงินกู้” อยากช่วยคนไทย ปลดหนี้นอกระบบ
กระตุ้นใช้เงินกระเป๋า 2 คลังชง "ชิมช้อปใช้" เฟส 3 ตั้งเป้า 2 ล้านคน

แหล่งรวมเงินทุน

ช่องทางเงินกู้ในระบบ ทั่วประเทศ

Copyright © PICO Finance All right reserved.