'นิด้าโพล' หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง 'ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่' โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 - 4 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการจะเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน (ค่าประกันสังคม) เพิ่มขึ้นใหม่ตามฐานเงินเดือน เพราะจ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมาร้อยละ 23.50 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนหากต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 15.35 ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ร้อยละ 25.58 ระบุว่า ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเลย
ส่วนเมื่อถามว่าอยากให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสวัสดิการในเรื่องใดบ้าง หลังจากการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.65 ระบุว่า เงินค่ารักษาพยาบาล รองลงมา ร้อยละ 14.38 ระบุว่า เงินบำเหน็จชราภาพ ร้อยละ 12.77 ระบุว่า เงินทดแทนจากการว่างงาน ร้อยละ 10.66 ระบุว่า เงินทดแทนจากการเลิกจ้างหรือลาออก ร้อยละ 8.85 ระบุว่า เงินสงเคราะห์บุตร ร้อยละ 8.46 ระบุว่า เงินค่าคลอดบุตร ร้อยละ 8.22 ระบุว่า เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ ร้อยละ 8.08 ระบุว่า เงินทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ร้อยละ 7.94 ระบุว่า เงินค่าทำศพ
URL : http://money.sanook.com/524117/
2017-11-07 14:55:12